ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

วัยรุ่นกับความเครียด

วัยรุ่นกับความเครียด


        วัยรุ่นกับความเครียดกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว จากที่เราเปลี่ยนระบบการสอบ ent. เป็นระบบใหม่ เด็กๆ กำลังอยู่ในช่วงการปรับตัว ทำความเข้าใจกับวิธีการสอบแบบใหม่ หลายคนก็กำลังเครียดอยู่กับเรื่องของการสอบ ก็ดูเหมือนว่าเรื่องของระบบการสอบ ent. จะเป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัวดีนัก ในเรื่องของการที่จะคัดเด็กที่จะเข้าไปสู่ระบบการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จนทำให้ระบบการศึกษาทั้งระบบของเราถูกกดดันด้วยเรื่องของการที่จะต้องดิ้นรนเพื่อไปสู่ความสำเร็จในการสอบ ent. ให้ได้



การจะทำอะไรก็ดูจะมุ่งไปที่ธงของการสอบ ent. ให้ได้เพียงอย่างเดียว เด็กๆ หลายคนมีความเครียดมากทีเดียวและภายใต้สภาวะความเครียดอันนี้ จริงๆ แล้วจะส่งผลเสียกับตัวของเด็กมากทีเดียว เช่น ความสามารถหรือสมาธิการอ่านหนังสือของเขาจะลดลงไปภายใต้ความเครียด เพราะว่าในเวลาที่เกิดความเครียดขึ้น ความคิดอาจจะฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นทำให้พลังงานที่เขาจะสามารถใช้ทำงานในเรื่องอื่นๆ สูญเสียไปกับพลังงานที่เป็นเรื่องของความเครียด และความฟุ้งซ่านเหล่านี้ก็เป็นความกดดันอย่างหนึ่งกับเด็กทีเดียว
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือว่า คนที่อยู่รอบตัวเองหลายคนนั้นนอกจากว่าไม่ได้ตระหนักว่าเด็กมีความเครียดและให้ความช่วยเหลือแล้ว กลับกลายเป็นคนที่ทำให้เด็กมีความเครียดมากยิ่งขึ้น พบว่าคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากมีความคาดหวังกับเรื่องการสอบ ent. ของลูกเป็นอย่างมาก หลายคนเครียดยิ่งกว่าลูกอีก หลายๆ คนภายใต้ความเครียดและความคาดหวังอันนี้ได้กดดันให้ลูกรู้สึกเครียดและกังวลตามไปโดยที่คุณไม่ได้ตั้งใจเลย
ก็อยากจะฝากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นกำลังจะสอบ ent. ว่าสิ่งแรกขอให้ลองสำรวจดูว่าลูกของคุณตกอยู่ในภาวะความเครียดรึเปล่า วิธีสังเกตนั้นดูไม่ยากเริ่มต้นให้ดูจากอาการทางร่างกายก่อน เช่น เด็กมีอาการปวดศีรษะอยู่เสมอ หรือบางทีท้องเสียอยู่บ่อยๆ หรือกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับกระสับกระส่าย เบื่ออาหารหรือบางทีก็มีเหงื่ออกตามฝ่ามือฝ่าเท้า มีอาการใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย
   ส่วนภาวะทางจิตใจอาจจะดูเหมือนวิตกกังวลมาก คิดมากไม่มีสมาธิบางคนหงุดหงิด โกรธง่าย บางคนร้องไห้ง่าย หรือเด็กบางคนสังเกต เห็นว่าเขาสูบบุหรี่บ่อยขึ้น หรือว่าบางครั้งเด็กอาจจะหันไปหายาบางอย่างโดยเฉพาะยาบ้า โดยคิดว่านอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว จะทำให้เขากระฉับกระเฉง และอ่านหนังสือได้มากขึ้นด้วยถ้าคุณสงสัยว่าลูกอาจจะมีวิธีเครียดเหล่านี้ คงต้องหาวิธีคลายเครียดให้กับลูก ก็คงช่วยเป็นกำลังใจให้ลูกฝ่าฟันเรื่องการสอบ ent. ได้ดีขึ้น ในเรื่องของการคลายเครียดนั้น นอกจากสำรวจพบเรื่องความเครียดแล้วก็คงต้องหาวิธีเผชิญกับปัญหาได้ดีขึ้น ลองกลับมาสำรวจตัวเราเองด้วยว่า เราเองได้กลายเป็นคนกดดันให้กับลูกหรือไม่จริงๆ แล้วความปรารถนาดีที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกสอบ ent. ได้ ได้เรียนในคณะที่ดี หรือในคณะที่คุณเชื่อว่าเมื่อเขาเรียนสำเร็จแล้ว เขาจะประสบความสำเร็จในการทำงานต่อไป ความปรารถนาดีเหล่านี้ไม่ใช่ความผิด แต่บางครั้งถ้าเราไม่สามารถสื่อความปรารถนาดีเหล่านี้ให้กับลูกได้ ให้ลูกได้เข้าใจด้วยวิธีการที่ดี อาจจะกลายเป็นเหมือนกับว่า เราไปกดดันเขาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจหลายครั้งพบบ่อยๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่มุ่งมั่นกับการเรียนในบางคณะมาก เกือบไม่ให้โอกาสหรือไม่ยอมให้เด็กได้ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเองเลยว่าเขาอยากจะเลือกเรียนในคณะอะไร แต่คุณช่วยคิดแทนเขาว่าน่าจะดีสำหรับเขา หรือหลายครั้งเป็นคณะที่คุณพ่อคุณแม่เคยเรียน จบออกมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีความผูกพันธ์กับคณะนี้มาก มีความผูกพันธ์กับมหาวิทยาลัยนี้มาก จนมีความรู้สึกว่าลูกก็ต้องเรียนคณะเดียวกับเรา ต้องเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับที่เราเคยเรียนมาก่อน เป็นความรู้สึกที่ดี
แต่บางทีเด็กๆ เขาก็รู้สึกว่าเขาก็อยากมีอิสระในการคิดและการตัดสินใจบ้าง ความเครียดจากการสอบ ent. สำหรับเขานั้นก็มากพออยู่แล้ว มากจนเกินกว่าที่เขาจะสามารถรับความเครียดที่เกิดจากความคาดหวังหรือความกดดันจากปัจจัยอื่นๆ รอบตัวของเขาได้อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีความรู้สึกว่าวิธีคิดและการตัดสินใจในเด็กวัยรุ่นนั้น ความจริงเป็นสิ่งที่เราให้ความเชื่อถือได้ ถ้าเขาค้นพบได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร คณะอะไรที่เขารู้สึกว่าเขารักที่จะเรียน อันนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะการสอบ ent. ได้เป็นการเริ่มต้นชีวิตเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย เขายังจะต้องเผชิญกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเรียน ฝ่าฟันจนกว่าจะจบมหาวิทยาลัยได้ ถ้าเขาไม่ได้เรียนด้วยพื้นฐานของใจที่รัก เป็นเรื่องยากมากที่เด็กจะฝ่าฟันกับอุปสรรคเหล่านี้
เด็กหลายๆ คนเมื่อเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย หรือในคณะที่ตนเองมีความไม่แน่ใจ แล้วก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะต่อสู้กับการเรียนที่หนักมากในมหาวิทยาลัย ก็อาจจะเริ่มท้อใจและมีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการแต่เป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการ เด็กบางคนก็ถอยหลัง ยอมแพ้กับการเรียน ทั้งๆ ที่ความสามารถทางการเรียนของเขานั้นเรียนให้สำเร็จได้ แต่เขาไม่มีกำลังใจพอหรือไม่ต่อสู้พอที่จะเรียนให้สำเร็จได้อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตระหนักว่าการเรียนหนังสือให้สำเร็จในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงแค่สอบ ent.ได้ ไม่ใช่เพียงแค่เขามีมันสมองพอจะเรียนหรือไม่ แต่เขาต้องมีใจรักในวิชาที่เขาจะเรียน เพราะมากไปกว่านั้นก็คือเมื่อเขาเรียนจบในคณะบางคณะมาแล้ว เขาจะต้องประกอบอาชีพหรือยู่ในอาชีพนั้นอีกตลอดชีวิตของเขา ถ้าเขาไม่รักกับงานที่เขาทำมากพอเขาจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตของเขาสร้างความสำเร็จให้กับชีวิตตนเองได้อย่างไร


   หากคุณพ่อคุณแม่หลายท่านทำความเข้าใจได้และทำใจยอมรับตรงนี้ได้ คุณก็จะเป็นกำลังสำคัญให้ลูกสามารถฝ่าด่านการสอบ ent. ซึ่งเป็นเพียงด่านแรกในมหาวิทยาลัย ลองให้เขาหาหนทางด้วยตัวของเขาเอง คุณเป็นที่ปรึกษาหารือ หรือทางโรงเรียนก็จะมีคุณครูแนะแนวให้คำปรึกษาในเรื่องคณะต่างๆ ให้เด็กเรียนรู้หรือรู้จัก หรือเข้าใจว่าวิชาชีพหรือแต่ละคณะ ที่เขาคิดว่าชอบหรือไม่ชอบนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร มีข้อมูลที่มากพอที่จะช่วยให้เด็กตัดสินใจได้ดีขึ้นกับว่า คณะไหนที่เหมาะกับเขาหรือมีความถนัดที่จะเข้าไปสู่คณะเหล่านั้นได้ ตรงนี้จะช่วยการตัดสินใจของเด็กเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น แล้วยังเป็นการสนับสนุนให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเองเป็นกำลังที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการสอบของเขาแทนที่จะเป็นการกดดันให้กับเด็ก
    นอกจากนี้ในช่วงของการเรียนหรือการเตรียมสอบ การอ่านหนังสือมากๆ ก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้น อันนี้เป็นความเครียดพบภายใต้ภาวะของการเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ การผ่อนคลายความตึงเครียดก็จะช่วยลดอาการทางกายที่เด็กบางคนมีอยู่ เช่น อาจจะต้องช่วยกันปรึกษาหารือ ดูวิธีการจัดระบบการเรียนการอ่านหนังสือของเราว่าเขาอ่านในช่วงที่มากเกินไปมั๊ยจริงๆ แล้ว สมาธิและความสนใจของคนเรา ก็คงไม่เกิน 40 - 45 นาที เพราะฉะนั้นการที่เขาฝืนอ่านหนังสือติดต่อกัน 3 ชั่วโมง จริงๆ แล้ว 2 ชั่วโมงหลังอาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์กับการอ่านหนังสือมากเท่าไหร่ แต่ถ้าเขาจัดระบบการอ่านหนังสือ ได้ดีขึ้น มีช่วงที่เป็นช่วงพักระหว่างการอ่าน ในทุก 45 นาทีอาจจะมี 10 นาทีที่เขาทำกิจกรรมอย่างอื่นที่จะทำให้เขาสบายใจขึ้น เช่น ฟังเพลงบ้าง ดูทีวีบ้าง หรือเล่นเกมอะไรบางอย่าง ออกไปเดินเล่น หรือมีกิจกรรมพูดคุยกับคนอื่นบ้าง แล้วค่อยกลับมาอ่านหนังสือใหม่ อาจจะดีกว่าการที่ต้องอ่านตลอดเวลาบางคนบางทีเดินเข้ามาเห็นลูกอ่านหนังสือมาเกือบชั่วโมงแล้วเขารู้สึกเครียด เขาอาจจะหยุดฟังเพลงเพียงแค่เพลงเดียว บังเอิญคุณพ่อคุณแม่เข้ามาในจังหวะเขาเปิดเพลงพอดี คุณก็โมโหต่อว่าเขาเสียใหญ่โตความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญในเรื่องของการเรียนหรือการที่ประสบความสำเร็จในการสอบได้ก็คือ การที่เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ ไม่ใช่อยู่ภายใต้ความเครียดหรือความกดดันอย่างที่บอก สมรรถภาพของคนเรามีข้อจำกัด คุณจะบีบบังคับให้เขาอยู่กับการเรียน คร่ำเคร่งตลอดทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่ได้ทำให้ศักยภาพที่เขามีอยู่เพิ่มขึ้น อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำไป ช่วงเวลาที่ลูกเตรียมสอบในการ ent . อย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะหาเวลาได้พูดคุยปรึกษาหารือกัน หรือมีกิจกรรมการผ่อนคลาย คิดว่าจะเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญสำหรับลูกทีเดียว เขามีความเครียดกับการสอบอยู่แล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นแรงหนุนที่ดี คอยจัดกิจกรรมผ่อนคลายให้กับเขา พูดคุยกับเขาให้เขาได้มีโอกาสระบายอารมณ์ ความเครียด เพราะว่าช่วงระหว่างเวลาที่รอสอบเป็นช่วงที่ยาวมาก ถ้ามีจังหวะที่ผ่อนคลายออกเป็นครั้งคราว ก็จะช่วยให้เขามีกำลังใจที่ดีขึ้นที่จะกลับมาเผชิญกับการสอบ ได้ใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีอย่างเต็มกำลังและเต็มความสามารถ โอกาสที่จะเกิดความสำเร็จในการสอบจะมีมากขึ้น
    นอกจากการผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยวิธีทั่วๆ ไปเหล่านี้ ถ้าหากสังเกตว่าลูกยังเครียดค่อนข้างมาก อาจจะช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายความเครียดในเรื่องที่เป็นระบบมากขึ้น ไปปรึกษาคลินิกคลายเครียดก็ได้ หรือจะลองฝึกปฏิบัติเองในครอบครัว อาจจะเป็นวิธีที่คุณใช้ประสบความสำเร็จดีก็อาจจะแนะนำให้ลูกใช้ได้ เช่น บางครอบครัวอาจจะชอบในเรื่องของกิจกรรมทางศาสนา บางท่านอาจจะมีการสวดมนต์ มีการนั่งสมาธิ หรือการผ่อนคลายตนเองด้วยวิธีการของทางศาสนา อันนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้กับในเด็กเช่นเดียวกัน ก็จะช่วยให้เขามีกำลังใจและมีความตึงเครียดจากการสอบลดน้อยลงไปนอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่นำมาใช้ในเรื่องของการผ่อนคลายเรื่องของความตึงเครียดได้ เช่น การฝึกการหายใจ หรือการนวดบางอย่างที่ช่วยลดความตึงเครียดได้ ก็ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู ในการช่วยกับลูกหรือวัยรุ่นที่กำลังมีความเครียดนอกจากวิธีการคลายเครียดต่างๆ เหล่านี้ และวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนในเรื่องของความเครียดแล้ว คุณอาจจะเข้าไปช่วยในเรื่องต้นเหตุของความเครียด ถ้าหากต้นเหตุของความเครียดขณะนี้คือเรื่องระบบการสอบ ent . อย่างที่ว่า บางทีถ้าคุณช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องระบบได้ดีขึ้น ก็อาจจะช่วยลดความตึงเครียดของเขาหรือช่วยสนับสนุนในเรื่องการเรียนบางอย่างที่คิดว่าเขารู้สึกว่าต้องการที่จะเพิ่มเติมหรือเสริมให้กับความสามารถในการสอบของเขา เพราะเขาจะต้องสอบบางวิชาที่อาจจะต้องมีการกวดวิชาเฉพาะในบางวิชา ก็อาจจะช่วยสนับสนุนในเรื่องการเรียนเหล่านี้ ก็อาจจะช่วยลดความเครียดลงได้บ้าง การกวดวิชาเพียงอย่างเดียวแต่ว่าเขาไม่ได้รับแรงสนับสนุนหรือความเข้าใจจากคนรอบข้างที่จะช่วยให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าในตัวของเขาเอง การสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา คุณพ่อคุณแม่ภาคภูมิใจหรือมีความชื่นชมในตัวเขาอยู่เสมอ เมื่อได้เห็นเขาได้มีความสามารถหรือการได้ใช้ความพยายามเต็มความสามารถ แต่มิใช่ตัดสินกันด้วยว่าเขาจะสอบ ent. ได้หรือไม่ได้
   ตรงนี้ก็คงขึ้นกับว่าคุณได้กดดันเขาหรือไม่ เพราะบางท่านอาจจะให้คำตัดสินลูกเพียงว่าถ้าเขาสอบ ent. ได้ ไม่ว่าก่อนการสอบเขาจะเป็นอย่างไรก็ตามที คุณก็จะให้การยอมรับเขา เช่นนี้แล้วการสอบ ent. มันมีความหมายกับชีวิตของเขามากไปเพียงแค่สิ่งหนึ่งที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต แต่มันเป็นการตัดสินตัวของเขาเองทั้งตัวทีเดียวเพราะฉะนั้นคุณควรจะให้การสนับสนุนในเรื่องทางวิชาการตามที่ลูกต้องการ ลดความตึงเครียดให้กับลูก ให้กำลังใจให้กับลูก มากกว่าจะกดดันด้วยความคาดหวังหรือตัดสินใจเองด้วยว่าการสอบผ่านการ ent. เท่านั้น คือสิ่งที่คุณต้องการเราอาจจะไม่พูดถึงในเรื่องการผ่านหรือไม่ผ่าน อันนั้นเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่มา คุณหรือลูกก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะผ่านหรือไม่ผ่านการสอบ ent. แต่สิ่งที่คุณและลูกช่วยกันหรือสนับสนุนกันในช่วงนี้ก็คือว่า พ่อกับแม่พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้กับเขา พร้อมที่จะสนับสนุนทางวิชาการที่เขาต้องการและพร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางฝ่าฟันความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาในช่วงนี้ไปด้วยกัน



บทความสุขภาพจิตจากพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น